Categories
ท่องเที่ยว

ชาวไทยลาวนับแสน ร่วมแห่พระอุปคุต เปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ เปิดงานบุญเดือนสาม นมัสการองค์พระธาตุพนม ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 ภาคเช้ามีการประกอบพิธีสำคัญ ตลอดริมฝั่งน้ำโขงในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม ได้มีประชาชนนักท่องเที่ยว พลังศรัทธา ข้าโอกาสพระธาตุพนม ต่างนำเครื่องสักการะบูชา รวมถึงดอกดาวเรือง มาร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ แห่พระอุปคุต ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ สืบทอดมาแต่โบราณ เชื่อกันมาสืบทอดมาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เนื่องจากพระอุปคุตเป็นสาวกพระพุทธเจ้า และมีความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ ที่สามารถคุมครองภัยปกปักษ์รักษางานประเพณีต่างๆ ได้

สำหรับพิธีแห่อุปคุต จะะประกอบขึ้นในช่วงเช้า ก่อนการเปิดงานวันแรก ของงานนมัสการองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นบุญใหญ่ของชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2519 โดยเชื่อกันว่า ก่อนที่จะเริ่มงานนมัสการวันแรก จะต้องมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีความเชื่อ คือ อัญเชิญองค์พระอุปคุตมาปกปักษ์รักษา ให้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอด 9 วัน 9 คืน โดยถือเป็นงานประจำปีบุญใหญ่อีสาน ที่กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว มีเงินหมุนเวียนสะพัดเกือบ 100 ล้านบาท ทำให้ร้านค้า ร้านยอาหาร โรงแรมที่พัก ถูกจับจองเต็ม

ทั้งนี้ งานนมัสการองค์พระธาตุพนม จัดขึ้นเดือนมกราคม ของทุกปี หรือในช่วง วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวัน วันแรม 1 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นงานบุญประเพณีใหญ่ของชาวอีสาน ที่สืบสอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ ปี 2519 ยาวนานกว่า 40 ปี โดยจากประวัติความเป็นมา ตามตำนานความเชื่อ พระอุรังคนิทาน ระบุไว้ว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ภายหลังได้มาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน จากนั้นพญาอินทร์ ได้เสด็จมาทูลถาม ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า เช่นกันกับพระพุทธองค์ เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก จะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน

ภายหลัง พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก ได้ร่วมกัน สร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น เพี่ออัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาประดิษฐาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 -14 หรือในราวปี พ.ศ.8 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งในยุคแรก ได้ก่อสร้างจากดินดิบ เป็นเตาสี่เหลี่ยม ข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน จากนั้นได้มีการบูรณะ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.500 และทำการบูรณะต่อเนื่องมา รวมถึง 6 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลง เนื่องจากฐานเก่าแก่ ทำให้เป็นที่ฮือฮา เพราะได้พบเห็นผอบแก้ว บรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ ไว้ภายใน และมีการลงเข็มรากสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นเจดีย์ทรงฐาน 4 เหลี่ยม ความสูง จากพื้นถึงยอดฉัตร 57 เมตร ฐานกว้างด้านละ ประมาณ 12 เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ภายในได้บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ของพระพุทธเจ้า

จากนั้น จึงได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลอง บูชาองค์พระธาตุพนม จนสืบทอดมาถึงถึงปัจจุบันทุกปี ที่สำคัญถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลดีทั้งการท่องเที่ยว และสร้างเศรษฐกิจ เงินหมุนเวียนสะพัดปีละ หลาย 100 ล้านบาท ส่วนยอดทำบุญ มีพลังศรัทธาร่วมบริจาค ปีละไม่ต่ำกว่า 20 -30 ล้านบาท