Categories
ข่าว

เขื่อนอุบลรัตน์ วิกฤตระดับ 3 น้ำล้นอ่างกว่า 108% ระบายน้ำต่อเนื่อง เตือนน้ำชีสูงขึ้นอีก

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชกาจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ว่า จังหวัดขอนแก่น รับแจ้งจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤติ ระดับ 3 ว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบตลอดช่วงเดือนกันยายนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล และเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 7 ตุลาคม 2566 มีการระบายน้ำเพียงวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และตั้งแต่วันที่ 8-13 ตุลาคม 2566 มีการระบายน้ำเป็นขั้นบันได วันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงระบายน้ำวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์มากถึง 1,796 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเกินความจุเก็บกักปกติ และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 มีระดับน้ำ สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 48 เซนติเมตร ปริมาณน้ำ 2,626 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 108 ของความจุ และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ถึงลดระดับลงเพียงเล็กน้อย

“ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในช่วง วันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ หากเขื่อนอุบลรัตน์คงการระบายน้ำในอัตราวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีระดับน้ำสูงสุดที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับวิกฤติของคันดินด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ และเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณอำเภออุบลรัตน์ น้ำพอง เมืองขอนแก่น หนองนาคำภูเวียง และอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น, อำเภอโนนสัง และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู และทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่น้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก อาจส่งผลกับพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาพสินธุ์ ร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร”

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ภาคเอกชน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

หากมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำตามสถานการณ์ของน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนและเกณฑ์การควบคุมสูงสุดตามมาตรฐานของเขื่อนอุบลรัตน์ จึงทำให้ระดับน้ำในลำน้ำชีด้านหน้าและท้ายเขื่อนมหาสารคาม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำชีเก็บอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำการประมง และการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ ตาข่าย เรือ ตลอดจนปรับระดับแพสูบน้ำ ด้วยไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของราษฎรต่อไป

ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบความแข็งแรงของที่พักอาศัย ป้ายโฆษณาต่างๆ ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัย และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่ใดให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดกำลังในรูปแบบทีมประชารัฐ เข้าสำรวจความเสียหาย