Categories
ข่าว

อันตราย! ร้อยเอ็ด ตลิ่งทรุดใกล้คอสะพานข้ามแม่น้ำชีธวัชดินแดง ผู้ว่าฯสั่งซ่อมด่วน

เวลา 13.30 น.วันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายธรณิศ เทพแพงตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด นายพัฒนะ พลศรี ผู้แทนผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่ง ในพื้นที่อำเภอธวัชบุรี อำเภอเชียงขวัญ และอำเภอจังหาร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี โดยจุดแรกเดินทางไปจุดที่ตลิ่งคอสะพานทรุดตัว ถนนทางหลวงหมายเลข 2044 บ้านธวัชดินแดง ตำบลธงธานี อำเภอธวัชบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแขวงทางหลวงจังหวัดร้อยเอ็ด นำหินไปวางเรียงบริเวณคอสะพานเพื่อป้องกันตลิ่งทรุดตัวในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดที่สองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด และคณะได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเยี่ยมประชาชนที่บริเวณจุดพักพิงชั่วคราวบ้านแก่งข่า ตำบลพระธาตุ อำเภอเชียงขวัญ ซึ่งได้รับผลกระทบจากลำน้ำชีเอ่อท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 25 หลังคาเรือน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด สนับสนุนเรือท้องแบนแห่งละ 1 รวม 2 ลำ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค และมีการจัดเวรเฝ้าระวังทรัพย์สินตลอด 24 ชั่วโมง จุดที่สามลงพื้นที่บริเวณพนังกั้นน้ำชีบ้านคุยค้อ หมู่ที่ 17 ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร ซึ่งปริมาณน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น ซึ่งได้รับความสนับสนุนกำลังพลจากมณฑลทหารบกที่ 27 ในการกรอกกระสอบทรายเพื่อป้องกันตลิ่งพังในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สถานการณ์ของแม่น้ำชีก่อนหน้านี้มีการลดลงและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เนื่องด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักสะสม ส่งผลทำให้น้ำหลากลงสู่ลุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ออกประกาศโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เรื่อง สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว และแนวทางการระบายน้ำ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 10 ต.ค. 2566 ว่า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในอ่าง คิดเป็นร้อยละ 106.92 ของความจุที่ระดับเก็บกัก โดยแนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงต่อไปอีกประมาณ 7 วัน รวมทั้งปริมาณน้ำชีที่เพิ่มขึ้นจากฝนตกหนักบริเวณพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนอุบลรัตน์จะทำการปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. และทะยอมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 13 ต.ค. 2566 เพื่อความเสถียรภาพของตัวเขื่อนและรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่าง จากวันละ 24.97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นวันละ 29.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดกล่าว กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง ตลอดจนกำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ รวมถึงเตรียมความพร้อมและแจ้งการปฏิบัติเมื่อเกิดอุทกภัย

“หากพี่น้องประชาชนพบเห็นพื้นที่เสี่ยงที่มักจะเกิดอุทกภัยเมื่อฝนตกหนักอย่างซ้ำซาก หรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อประสานงานที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 043-512-955 สายด่วนนิรภัย 1784 หรือที่ Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ” หรือช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยด่วนต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในช่วงท้าย