Categories
ข่าว

ลุ้นระทึก! ผู้ตรวจฯ มีมติยื่นศาล รธน.วินิจฉัย มติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อ “พิธา” ชิงนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังสมาชิกรัฐสภา และประชาชน ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้รับวินิจฉัยว่า กรณีการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 394 คน ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่เห็นชอบว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ล่าสุด วันที่ 24 ก.ค.66 เวลา 14.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า หลังการประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.66 มีข้อสงสัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้มีสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไปยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการฯ 17 คำร้อง ในคำร้องมีคำขอสำคัญให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณา 2 เรื่อง คือ 1 ขอให้วินิจฉัยว่าการมีมติไม่ให้เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ ซ้ำ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2 ขอให้ผู้ตรวจการฯ มีคำขอไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลออกมาตรการหรือวิธีการ เพื่อชะลอกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งในวันที่ 27 ก.ค.นี้ รัฐสภานัดลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ผู้ตรวจการฯ มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ควรพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนจะมีการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป

“ในวันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า การกระทำของ “รัฐสภา” ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย”

ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อชะลอกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นชอบร่วมกันว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภา ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัย

ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันนี้ (24 ก.ค.66) หรือวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.66) ก่อนที่จะมีการนัดประชุมสภาฯ ในวันที่ 27 ก.ค.นี้